HackBiodesign X JSTP

About

Hack biodesign was a collaborative effort between biologist, designer, and technologist to explore a new approach in education and citizen science. The Hack biodesign workshop engage high school students to learn the emerging fields of “biodesign” where biotechnology become the building blocks for creative expression and exploration. The participants learned electronics circuit, sensors, synthetics biology, biomimicry, design thinking, and they were tasked to use their knowledges to develop their own vision of the future in years 2050. The activity provided the opportunities for the participants to have hands-on experiences on cutting edges technology, while challenge them to express their idea and think about the responsible way to use technology for the better futures.

 

By @Pakpoom 

HackBiodesign X JSTP: เพาะพันธุ์ไบโอแฮ๊กเกอร์สัญชาติไทยอาทิตย์ที่ผ่านมาแอดมินได้ร่วมกับทีม JSTP (Junior Science Talent…

โพสต์โดย Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ เมื่อ 14 พฤษภาคม 2018

 

อาทิตย์ที่ผ่านมาแอดมินได้ร่วมกับทีม JSTP (Junior Science Talent Project) จัดค่าย HackBioDesign ครั้งแรกของไทยให้นักเรียนม.ต้นแปดสิบคนจากทั่วประเทศ ที่ม.นเรศวร/รร.หรรษนันท์ จังหวัดพิษณุโลก

ค่าย JSTP ระดับมัธยมต้นมีจัดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้วปีละ 3-5 ค่าย แต่รอบนี้เป็นครั้งแรกที่เราเอา theme “ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ” เข้ามาจับ หวังว่าจะเป็นการเปิดมุมมองเกี่ยวกับงานวิจัย+สิ่งประดิษฐ์ “ประหลาดๆ” ให้กับเด็กหัวกระทิของชาติกลุ่มนี้ เนื้อหา/รูปแบบกิจกรรม/ประสบการณ์จากค่ายอาจจะใช้เป็นต้นแบบของเวิร์กช็อบ หรือหลักสูตรแนวๆนี้ได้อีกในอนาคต

HackBioDesign ของเรารอบนี้ได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก Global Community Bio Summit (https://www.biosummit.org/) งานชุมนุมที่ MIT Media Lab ของเหล่าศิลปิน นักวิจัย นักออกแบบ แฮ็กเกอร์ ภาคประชาชน ฯลฯ จากทั่วโลกผู้ใช้ “ชีววิทยา” เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ …ในยุคที่งานฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ IoT AI หรืออะไรๆล้ำๆของวิศวกรรมสายไอทีเข้ามาหลอมรวมกับงานชีววิทยา การแพทย์ การเกษตร และวัสดุศาสตร์ ..ในยุคที่เทคโนโลยีการปรับแต่งสิ่งมีชีวิตเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลงจนคนธรรมดาสามารถเข้าถึงได้ ในยุคที่งาน “ไบโอเทค” ไม่ได้จำกัดอยู่ที่นักวิจัยสายแข็งที่มุ่งแก้โจทย์หนักๆทางวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมแต่เปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้ที่เป็นนักคิดนักฝันได้มามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของวิทยาการ พวกเราหวังว่างาน HackBioDesign จะก้าวเล็กๆก้าวแรกที่นักประดิษฐ์ชาวไทยจะเข้าไปไปส่วนหนึ่งของเม็กกะเทรนด์นี้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทรนด์ BioDesign ได้ที่: http://hackbiodesign.org/biodesign/ )

ค่าย HackBioDesign ประกอบด้วยสามโมดูลหลัก: “Design + Bio”, “Design with Bio” และ “Design inspired by Bio” แต่ละโมดูลประกอบด้วยส่วนที่เป็นการบรรยายจากวิทยากร ต่อด้วยแล็บหรือกิจกรรมภาคสนาม และปิดท้ายด้วยช่วง Ideate/Sketch/Prototype ประดิษฐ์กรรม “หลุดๆ” โดยทีมเด็กๆนักเรียนผู้เข้าร่วม

“Design + Bio” ว่าด้วยเทคโนโลยีและงานออกแบบที่สร้างขึ้นมาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่แมลงสาบกึ่งไซบอร์กที่ควบคุมผ่านมือถือ ดนตรีที่บรรเลงจากกระแสประสาทบนมัดกล้ามเนื้อ เสื้อผ้าที่ตอบสนองต่อระดับฮอร์โมน เนื้อหาในโมดูลนี้ยังรวมไปถึง BioArt จากเทคโนโลยีการถ่ายภาพจากล้องจุลทรรศน์ที่ช่วยเปิดโลกความงดงามอลังการที่ตามนุษย์มองไม่เห็น ฯลฯ กิจกรรมแล็บของค่ายในส่วนนี้เป็นการลองใช้ต่อวงจร Arduio + เขียนโปรแกรมง่ายๆเพื่อวัดสัญญาณชีพ การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ ก่อนจบโมดูลนี้เด็กๆได้โจทยให้ไปคิดสร้างต้นแบบมนุษยไซบอร์กหรืองานศิลปะออกมาจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ในโมดูลนี้

“Design with Bio” ว่าด้วยเทคโนโลยีและงานออกแบบที่สร้างขึ้นมาจากการปรับแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ พันธุวิศวกรรมยุคแรกเริ่ม GMO ไล่มาจนถึงชีววิทยาสังเคราะห์ วิศวกรรมระบบประสาท ดีเอ็นเอนาโนเทคโนโลยี การสร้างนาฬิกาชีวิตและการบันทึกข้อมูลลงในเซลล์เป็นๆ จริยธรรมกับการปรับแต่งพันธุกรรมตัวอ่อนมนุษย์ การล้างบางยุงแพร่เชื้อ การคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ ฯลฯ กิจกรรมแล็บมีทั้งส่วนที่เป็นการหมักราผลิตเม็ดสีและอาหาร (ข้าวหมาก) และแล็บการโคลนนิ่งยีนสีแดงกับสีนำ้เงินจากดอกไม้ทะเลเข้าไปในแบคทีเรีย ท้ายโมดูลนี้เราจำลองสถานการณ์ให้นักเรียนแบ่งทีมเตรียมวางแผนโปรเจกวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตไปแข่งงาน iGEM (http://igem.org/)

“Design Inspired by Bio” ว่าด้วยเทคโนโลยีและงานออกแบบที่ได้แนวคิด/แรงบันดาลใจมาจากสิ่งมีชีวิต (biomimicry) ตั้งแต่วัสดุเกาะฝาแบบตีนตุ๊กแก หุ่นยนต์ที่วิ่งได้คล่องในที่แคบๆเหมือนแมลงสาบ เวลโครแถบยึดเลียนแบบการเกาะของดอกหญ้า หัวรถไฟที่เลียนแบบปากนก ไปจนถึงปัญญาประดิษฐ์ที่แก้โจทย์ปัญหายากๆได้แบบสมองและวิวัฒนาการ โมดูลนี้มีกิจกรรมภาคสนามไปเข้าป่า ลอดถ้ำ ส่องพืช/สัตว์แปลกๆ ก่อนจะนำ form / function ที่สังเกตได้มาช่วยกันถอดบทเรียน ก่อนจบโมดูลเด็กๆได้โจทย์ให้ออกแบบเทคโนโลยีbiomimicryสำหรับการเดินทางไปอยู่ตั้งรกรากบนดาวอังคาร

นอกจากสามโมดูลหลักที่เล่ามาข้างต้นแล้วพวกเราทีมจัดงานได้ตั้งใจวางกิจกรรมเสริมเพื่อให้เด็กๆเห็นความเชื่อมโยงเทคโนโลยี/การออกแบบในมิติของ “อดีต-อนาคต” และมิติของ “ท้องถิ่น-สากล”
เราได้ “ไก่ชน” เป็นๆมาโชว์ตัว พร้อมกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานไก่ชนพระนเรศวร ความเชื่อ ธรรมเนียม และภูมิปัญญาการเลี้ยง+ผสมพันธุ์ไก่แบบบ้านๆที่สืบเนื่องมาผนวกเข้ากับความรู้ยุคพันธุศาสตร์ ยีนและจีโนม
เราได้ฟังเรื่องประวัติศาสตร์ไทยท้องถิ่นในบริบทของประวัติศาสตร์โลก ได้พาเด็กๆไปดูวัดพระพุทธชินราช… แบบไม่ได้ให้ดูเปล่าๆแต่ให้การบ้านไป “ออกแบบ” หน้าบันพระอุโบสถใหม่ให้เข้ากับโลกในศตวรรษที่ 21 และ theme ค่าย HackBiodesign
เราได้สังเกตธรรมชาติท้องถิ่น (ถ้ำผาท่าพล อ. เนินมะปราง พิษณุโลก) เพื่อเอามาเป็นโจทย์การเดินทางไปอวกาศในช่วง “Design Inspired by Bio”
วันสุดท้ายก่อนจบค่ายเราได้จัดเวิร์กช็อบเล็กๆเกี่ยวกับอนาคตศึกษา (future studies) ให้เด็กๆได้ลองทำนานเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคต และผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ โปรเจกสุดท้ายเราให้เวลาเด็กๆแต่ละกลุ่มครึ่งวันสำหรับเอาสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดค่ายสร้างเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆความยาวไม่เกินสามนาทีแสดงเทคโนโลยีและวิถีชีวิตของมนุษย์ในปี 2118 หรืออีกร้อยปีข้างหน้า

ความท้าทายและความสนุกอย่างนึงของค่ายนี้คือนักเรียนที่มาเข้าร่วมเกือบทั้งหมดเป็นนักเรียน ม.ต้น ที่ยังไม่เคยเรียนวิชา “ชีววิทยา” มาก่อนเลย แต่พลังความซน ความอยากรู้ อยากเล่น อยากลอง บอกได้เลยว่าเกินร้อย ผมคุยกับทีมผู้จัดว่าเราคิดถูกแล้วที่เอา HackBiodesign มาลองกับเด็กกลุ่มนี้ก่อน ให้สิ่งที่เค้าเรียนในค่ายนี้เป็นคาบเรียนชีววิทยาคาบแรกในชีวิตพวกเขา ให้รู้ว่าชีววิทยายุคนี้มันไม่ใช่การนั่งท่องนั่งจำอะไรแต่มันเป็นพื้นที่ เป็นเครื่องมือ และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับสร้างประดิษฐ์กรรมล้ำๆที่จินตนาการพวกเขาจะพาไป

หลายคนอาจจะคิดการจัดค่ายอะไรแบบนี้ต้องใช้งบมหาศาล ต้องใช้ห้องแล็บหรูๆระดับโลก ต้องเตรียมงานกันข้ามปี ฯลฯ แต่จริงๆแล้วงบต่อหัวนักเรียนสำหรับนักเรียนอยู่ที่หลักพันบาทเท่านั้น ห้องแล็บก็ที่ใช้ก็เป็นแล็บวิชาพื้นฐานธรรมดาๆในที่มหาลัยไทยส่วนใหญ่มี นอกนั้นก็เป็นกระดาษ ปากกา กองขยะrecycleสำหรับทำ prototype ฯลฯ เวลาเตรียมงานจริงๆของพวกเราก็ไม่กี่เดือนเท่านั้น (เนื้อหาจริงๆไม่กี่วัน ที่เหลือเป็น logistics) สูตรเด็ดจริงๆของค่ายนี้การเลือกหัวข้อเด็ดๆมานำเสนอ เลือกกิจกรรมพิลึกๆที่ท้าทายสมองเด็กๆ …แล้วก็สไลท์สวยๆสามารถเปลี่ยนห้องมืดเปล่าๆเป็นเหมือนโรงหนัง iMAX โปรดักชั่นพันล้าน

เราเปิดค่ายและจบค่ายด้วย keyword สำคัญคำนึงคือคำว่า “Make” หรือการสร้าง มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่เราเป็น “นักสร้าง” มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว ในยุคนึงเรา “สร้าง” ด้วยหิน ดิน ไม้ และกระดูกสัตว์ ต่อมาก็ “สร้าง” ด้วยโลหะ กระจก ปูน ฯลฯ แล้วก็มาเป็นอิเลคทรอนิก อุปกรณ์ไฟฟ้า ซอฟแวร์ ฯลฯ HackBiodesign เป็นบทนำเข้าสู่ยุคของการ “สร้าง” ด้วยชีววิทยา

เราเชื่อว่าเด็กๆทุกคนก็เป็น “นักสร้าง” โดยธรรมชาติ ก่อนที่เราจะรู้จักฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ ศิลปะวิศวกรรม ฯลฯ เราปั้นดินนำ้มัน วาดรูป แต่งเรื่อง ต่อเลโก้ พับกระดาษ ก่อกองทราย ฯลฯ “สร้าง” และ “ความอยากสร้าง” เป็นเครื่องมือและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้สรรพวิชาทั้งหลาย

น่าเสียดายพอโตขึ้นมาหน่อยเราส่วนใหญ่จะเหลือเวลาให้ “สร้าง” น้อยลงๆ อาจจะด้วยความขี้เกียจ ความยุ่ง ความกลัวล้มเหลว หรือเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เราเปลี่ยนจากนัก “สร้าง” เป็นนัก “เสพย์” ไม่แปลกที่โลกนี้เต็มไปด้วย คนช็อป คนชิม คนอ่านหนังสือ คนดูหนัง คนฟังเพลง …จะมีส่วนน้อยที่เป็นนักประดิษฐ์ เป็นกุ๊ก เป็นนักประพันธ์ เป็นศิลปิน ฯลฯ คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงความเป็น “นักสร้าง” … แต่นักสร้างแค่จำนวนหยิบมือนี่แหละที่เป็นผู้กำหนดอนาคตของโลกใบนี้

Team

  • นายพัทน์ ภัทรนุธาพร: Media Lab, Massachusetts Institute of Technology [หัวหน้าค่าย HackBioDesign + วิทยากร หัวข้อ biomimicry + future studies]
  • ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร: คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร / อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง [หัวหน้าค่าย HackBioDesign + วิทยากรหัวข้อ Synthetic biology]
  • รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [หัวหน้าโครงการ JSTP + Freak lab (https://freaklab.org/) ]
  • นายโพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ + นายบวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข : FIBO LAB, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [วิทยากรหัวข้อ Biodigital]
  • ผศ.ดร.ป๋วย อุ่นใจ: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล [วิทยากรหัวข้อ BioArt]
  • ดร.ณัฐฐา เพ็ญสุภา คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร [วิทยากรหัวข้อ fermentation]
  • นายนภดล ปุกแก้ว นักวิชาการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร [วิทยากรหัวข้อไก่ชน]
  • รศ.วินัย ผู้นำพล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [วิทยากรหัวข้อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในประวัติศสตร์โลก]
  • อาจารย์อนุสรณ์ ติปยานนท์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [วิทยากร หัวข้อ design for future]
  • นางสาวสิริอร ชูวงศ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [ผู้จัดการโครงการ]
  • ดร.โอภาส ตันติฐากูร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ดร.ภริณดา ทยานุกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • นางสาว อรอมล เหล่าปิตินันท์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • รศ.ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ผศ.ดร.สิริวดี ชมเดช มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ดร.เทิด ดิษยธนูวัฒน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม
  • ดร.ปิลันธน์ แสนสุข มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • ดร.หทัยชนก คมเม่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • นางสาวเกศินี มาศคีรีวงศ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • ผศ.ดร.พรรณลดา ติตตะบุตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • ผศ.ดร.พันธุ์วงค์ คุณธนะวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • ดร.กมลลักษณ์ เทียมไธสง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • นางสาวกุลฒี รัตนรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • เด็กชาย ณ ชนก หิรัญศรี จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี JSTP รุ่น 20
  • นาย พชรพล แสนแก้ว เตรียมวิศวฯ พระนครเหนือ JSTP รุ่น 20
  • นาย รวิชญ์ บุตรดี สวนกุหลาบวิทยาลัย JSTP รุ่น 18
  • นาย รังสิมันต์ กุลเพชรจิระ พิษณุโลกพิทยาคม JSTP รุ่น 17
  • นางสาว นวพร อรุญวัฒนามงคล กำเนิดวิทย์ JSTP รุ่น 16